กปน. จับมือกรมชลฯ ย้ำแล้งนี้น้ำประปาไม่ขาดแคลน พร้อมแนะแนวทางใช้น้ำประปาช่วงภัยแล้ง

นายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะโฆษก กปน. เปิดเผยว่า กปน. ร่วมกับกรมชลประทาน เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในขณะนี้อย่างใกล้ชิด และยืนยันว่า กปน. จะผลิตน้ำประปาให้บริการประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ให้มีน้ำประปาใช้ไม่ขาดแคลนตลอดหน้าแล้งนี้ โดยเฉพาะการร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ในปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation : กระแทกลิ่มความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา) เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลกระทบให้น้ำประปาในบางพื้นที่ บางช่วงเวลามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป

โฆษก กปน. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้หลายท่านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยารับรู้รสชาติน้ำประปาที่เปลี่ยนไป ตามข่าวที่ กปน. ได้แจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากค่าความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่มีผลต่อความน่าดื่มและการยอมรับของผู้บริโภค และขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ตามคำแนะนำของกรมอนามัย ดังนี้

  • ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ด้วยรสชาติที่เปลี่ยนไปอาจส่งผลต่อความน่าดื่ม ทั้งนี้ ความเค็มในรูปของโซเดียมในน้ำประปา ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณโซเดียมในอาหารทั่วไปที่บริโภคในชีวิตประจำวัน การบริโภคน้ำประปา 2 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน ถือว่าไม่ได้รับโซเดียมมากเกินจนกระทั่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย
  • กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก
  • การนำน้ำประปาไปต้ม ไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม เนื่องจากสิ่งที่ระเหยไปคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย ดังนั้น ยิ่งทำให้น้ำระเหยไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็ม หรือ ความกร่อยเพิ่มมากขึ้น
  • การกรองน้ำด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) เท่านั้น ที่สามารถแก้ไขเรื่องความเค็มของน้ำประปาได้ หากประชาชนไม่มีเครื่องกรองระบบ RO ขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ หากช่วงไหนน้ำทะเลหนุนสูง ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา และสำรองน้ำในวันที่น้ำประปารสชาติปกติไว้ใช้บริโภค

กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก

การนำน้ำประปาไปต้ม ไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม เนื่องจากสิ่งที่ระเหยไปคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย ดังนั้น ยิ่งทำให้น้ำระเหยไปมากเท่าไร ยิ่งทำให้สัดส่วนความเค็ม หรือ ความกร่อยเพิ่มมากขึ้น

การกรองน้ำด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) เท่านั้น ที่สามารถแก้ไขเรื่องความเค็มของน้ำประปาได้ หากประชาชนไม่มีเครื่องกรองระบบ RO ขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ หากช่วงไหนน้ำทะเลหนุนสูง ขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา และสำรองน้ำในวันที่น้ำประปารสชาติปกติไว้ใช้บริโภค

ทั้งนี้ กปน. ได้จัดจุดให้บริการน้ำประปาดื่มได้ฟรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องประชาชน สามารถนำภาชนะมารับน้ำประปาดื่มได้ฟรี ที่สำนักงานประปาสาขาใกล้บ้านท่าน และหากวันใดที่ไม่มีน้ำทะเลหนุนสูง ก็สามารถอุปโภค-บริโภคน้ำประปาและสำรองน้ำประปาไว้ใช้ได้ ตามช่วงเวลาที่แนะนำ
นอกจากนี้ กปน. ขอความร่วมมือประชาชนในกรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยใช้เท่าที่จำเป็น ไม่ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ หันมาใช้อุปกรณ์ประปาที่ได้รับรองฉลากประหยัดน้ำ และตรวจสอบอุปกรณ์ ประปาภายในบ้านให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ

นอกจากนี้ หากประชาชนพบท่อประปาในพื้นที่สาธารณะแตกรั่ว โปรดแจ้ง กปน. ผ่านช่องทางต่าง ๆ และขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้ง ด้วยการมีน้ำใช้อย่างไม่ขาดแคลน

อนึ่ง สถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝน หรือประมาณเดือนพฤษภาคม 2564 ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาผ่านแอปพลิเคชัน MWA onMobile หรือสอบถาม MWA call center โทร. 1125 รวมทั้ง Facebook และ Line@ ในชื่อ @MWAthailand ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยความห่วงใยจากการประปานครหลวง

ข่าวแจก กปน. อื่น ๆ