ถามตอบคุณภาพน้ำ

  • Q:

    เรื่องคลอรีนในน้ำ

    A:

    1. Chlorination เป็นการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีน โดยเป็นสารฆ่าเชื้อโรคสามารถหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียส่วนใหญ่ได้ การจะเติมคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำนั้นจะต้องเติมในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้มีคลอรีนอิสระคงเหลืออยู่ในน้ำในปริมาณที่พอเหมาะความต้องการคลอรีน หรือ Chlorine Demand ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพ และเคมีของน้ำ เช่น พีเอช อุณหภูมิน้ำที่มีความขุ่น หรือสารละลายมักต้องการคลอรีนสูง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับเวลาของการสัมผัสด้วยChlorine Demand = Chlorine added + Free residual chlorine
    2. การประปานครหลวงผลิตน้ำประปา โดยใช้เกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก ปี 1993 ว่า น้ำประปาควรมีคลอรีนอิสระคงเหลือ ไม่น้อยกว่า 0.2 มิลลิกรัมต่อลิตร ในเส้นท่อจ่ายน้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนภายหลัง
    3. คลอรีนที่ตรวจหาในน้ำประปา คือ ค่าคลอรีนอิสระคงเหลือ ( Free residual chlorine) ซึ่งในเส้นท่อจ่ายน้ำ มีค่าอยู่ในช่วง 0.2-1.2 มิลลิกรัมต่อลิตร
  • Q:

    เรื่องการใช้น้ำตกจากภูเขา

    A:

    น้ำประปาที่ ต. ทุ่งตะโก อ.หลังสวน จ.ชุมพร ที่นำมาใช้เป็นน้ำตกจากภูเขา เมื่อถูสบู่ไม่เป็นฟอง ทำให้เหนียวตัว เป็นลักษณะของน้ำที่มีความกระด้าง เกิดจากสารประกอบจำพวก แคลเซียม แมกนีเซียม ตรงข้ามกับน้ำอ่อนที่เกิดฟองกับสบู่ได้ง่าย แต่ล้างออกได้ยาก ความกระด้างในน้ำ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

    1. ความกระด้างชั่วคราว หรือความกระด้างคาร์บอเนต เกิดจากสารไบคาร์บอเนตของแคลเซียม และแมกนีเซียม น้ำกระด้างชนิดนี้สามารถกำจัดได้โดย
    • การต้มให้เดือด ทำให้เกิดเป็นตะกรันในหม้อน้ำหรือเครื่องใช้ในครัว
    • การเติมปูนขาวและตกตะกอน ต้องมีระบบปรับ pH ให้เป็นกลางค่อนไปทางด่างเล็กน้อย ด้วยการเติมกรด H2SO4 อ่อนๆ แต่ต้องควบคุมไม่ให้ pH ลดลงไปด้านกรด
    1. ความกระด้างถาวร หรือความกระด้างที่ไม่ได้เกิดจากคาร์บอเนต เกิดจากสารพวกซัล-เฟต และคลดไรด์ ของแคลเซียมและแมกนีเซียม การแก้ไขน้ำกระด้างชนิดนี้มีความยุ่งยาก โดยมีวิธีการ ดังนี้
    • กระบวนการ Lime-Soda คือเติม Ca(OH)2 และ Na2CO3 แล้วตามด้วยการตกตะกอน จากนั้นทำการปรับ pH ให้เป็นกลาง เช่นเดียวกับวิธีข้างต้น
    • การกรองที่ใช้การแลกเปลี่ยนอิออน เช่น เรซิน

    ในแหล่งน้ำบางแห่ง ที่มีน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยซึมเข้ามา ทำให้มีปริมาณของเกลือโซเดียม มากเกินปกติ เมื่อนำมาใช้อาบน้ำกับสบู่ จะทำให้เกิดฟองสบู่ได้ยาก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับว่า น้ำที่ใช้มีความกระด้างมาก แต่ความจริงมีความกระด้างต่ำมาก ปรากฎการณ์เช่นนี้เรียกว่า ความกระด้างเทียม แต่โซเดียมไม่ได้ทำให้เกิดความกระด้างขึ้นในน้ำ ขีดความจำกัดของความกระด้าง ยังไม่มีการกำหนด อย่างไรก็ตาม น้ำประปาควรมีความกระด้างไม่เกิน 80 -100 มก./ล. ของ CaCO3 เพื่อป้องกันการกัดกร่อนในเส้นท่อ

    ระดับความกระด้างของน้ำ

    • น้ำอ่อน 75 มก./ล. CaCO3 หรือน้อยกว่า
    • น้ำค่อนข้างกระด้าง 75 – 150 มก./ล. CaCO3
    • น้ำกระด้าง 150 – 300 มก./ล. CaCO3
    • น้ำกระด้างมาก 300 มก./ล. CaCO3 หรือมากกว่า

    ดังนั้น ท่านจะต้องทราบว่าน้ำที่ท่านใช้อยู่ มีความกระด้างประมาณเท่าไร และเป็นชนิดไหน เพื่อเลือกวิธีกำจัดที่เหมาะสมต่อไป

  • Q:

    เรื่องคลอรีนที่ใช้ในน้ำประปา

    A:

    สำหรับคลอรีนที่การประปาใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นคลอรีนแก๊ส ปริมาณการใช้อยู่ระหว่าง 2.5 – 3.0 มิลลิกรัม/ลิตรขึ้นกับฤดูกาล และคุณภาพของน้ำดิบ โดยในหน้าร้อนจะมีการเพิ่มปริมาณการใช้สูงกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบาดในระบบทางเดินอาหาร เช่นการเกิดอหิวาตกโรค เป็นต้น ในระบบเส้นท่อจ่ายน้ำต้องมีปริมาณคลอรีนคงเหลือไม่น้อยกว่า 0.2 มิลลิกรัม/ลิตร ตามเกณฑ์แนะนำขององค์การอนามัยโลก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนภายหลังกลิ่นคลอรีนในน้ำประปาเป็นสัญลักษณ์ของความปลอดภัย ปราศจากเชื้อโรค การกำจัดกลิ่นคลอรีนสามารถทำได้ง่ายมาก เพียงรองน้ำประปาใส่ในภาชนะที่สะอาด และอย่าให้สิ่งสกปรกตกลงไป ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 20 – 30 นาทีคลอรีนจะระเหยไปเอง

  • Q:

    เรื่อง BOD,pH คืออะไร

    A:

    กองวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การประปานครหลวง ขอเรียนชี้แจงคำถามของท่าน ดังนี้

    1. พีเอช คือค่าที่แสดงถึงความเป็นกรดหรือด่างของน้ำทิ้ง น้ำทิ้งที่มีสมบัติเป็นกรดจะมีค่าพีเอชน้อยกว่า 7 เป็นด่างจะมีค่าพีเอชมากกว่า 7 และเป็นกลางจะมีพีเอชเท่ากับ 7 ค่าพีเอชของน้ำทิ้งมีความสำคัญในการบำบัดด้วยวิธีทางเคมีฟิสิกส์ และชีววิทยา จำเป็นต้องควบคุมค่าพีเอชของน้ำทิ้งให้คงที่ หรือควบคุมให้อยู่ในช่วงที่จำกัดไว้
    2. บีโอดี (Biochemical Oxygen Demand , BOD) คือปริมาณออกชิเจนที่แบคทีเรียใช้ในการย่อยสารอินทรีย์ชนิดที่ย่อยสลายได้ ภายใต้สภาวะที่มีออกซิเจน ค่าบีโอดีจะบอกถึงกำลังความสกปรกของน้ำเสียต่างๆ ในแหล่งน้ำนอกจากนี้ยังใช้ในการออกแบบในการบำบัดน้ำเสียด้วย หากท่านต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถค้นคว้าได้จากหนังสือในห้องสมุดต่างๆ เช่น
    • เคมีของน้ำ น้ำโสโครก และการวิเคราะห์ ของ อ.กรรณิการ์ สิริสิงห์
    • คู่มือวิเคราะห์น้ำเสีย ของ ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์
    • การกำจัดน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและแหล่งชุมชน โดย เสริมพล รัตสุข และ ไชยยุทธ กลิ่นสุคนธ์
  • Q:

    เรื่องไฮโดรเจนซัลไฟด์

    A:

    การทดสอบไฮโดรเจนซัลไฟด์นั้น ส่วนใหญ่จะวิเคราะห์ในน้ำเสีย ปัจจุบันการประปานครหลวงไม่ได้ทำการวิเคราะห์รายการนี้ วิธีวิเคราะห์ไฮโดรเจนซัลไฟด์ สามารถเปิดดูได้ในหนังสือ Standard Methods for theExamination of Water & Wastewater หากประสงค์จะถามวิธีวิเคราะห์ โปรดแจ้งเบอร์ Fax ของท่าน ทางกองวิเคราะห์คุณภาพน้ำ จะส่ง Fax ไปให้

  • Q:

    เรื่องเครื่องมือตรวจน้ำประปาดื่ม

    A:

    1. การตรวจสอบเชื้อโรคหรือแบคทีเรียในน้ำประปา จะสามารถกระทำได้ เฉพาะในห้องปฏิบัติการทดสอบเนื่องจากต้องใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ หลายชนิดร่วมกัน ต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญงานและผ่านการฝึกอบรม
    2. การตรวจสอบสารละลายในน้ำ หากมีจุดประสงค์เพียงต้องการทราบองศาหรือระดับการเปลี่ยนแปลง ของปริมาณเกลือแร่ในน้ำ (mineralization) ในขณะใดขณะหนึ่ง สามารถใช้เครื่องมือตรวจวัดค่าความนำจำเพาะได้(conductivity meter) แต่ค่าที่วัดได้ไม่ได้บอกให้ทราบถึงชนิดของสารในน้ำ จึงบอกไม่ได้ว่า น้ำนั้นสะอาดปราศจากเชื้อโรคหรือสารพิษ จำเป็นต้องตรวจสอบพารามิเตอร์อื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อยืนยัน
    3. โดยคุณสมบัติทางเคมี-ฟิสิกส์ ของน้ำประปา เมื่อผลิตจากโรงงาน สูบจ่ายเข้าสู่ระบบท่อจ่ายน้ำแล้ว จะยังคงรักษาคุณสมบัติของน้ำในสภาวะเดียวกันนี้ ได้จนถึงผู้ใช้น้ำปลายทาง เนื่องจากไม่มีกระบวนการอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้องที่จะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพน้ำให้ลดลง ดังนั้นคุณภาพน้ำในระบบเส้นท่อ จึงสามารถอ้างอิงถึงคุณภาพน้ำในโรงงานผลิตน้ำได้ หากท่านสนใจ สามารถดูข้อมูลดังกล่าวได้ที่ www.mwa.co.th ในหัวข้อ ความรู้เรื่องกิจการประปา/คุณภาพน้ำ

    ท้ายนี้ขอเรียนว่า สิ่งจำเป็นที่ผู้ใช้น้ำต้องดำเนินการ คือ การดูแลระบบประปาภายในอาคารให้สะอาด อยู่เสมอเช่น ท่อประปาหากเป็นท่อเหล็กที่หมดอายุการใช้งานเป็นสนิม(ปกติอายุการใช้งาน 5 ปี) ควรเปลี่ยนเป็นท่อพีวีซี หากใช้ถังพักน้ำและอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ควรบำรุงรักษาทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอเช่นกันกองวิเคราะห์คุณภาพน้ำ การประปานครหลวง ยินดีที่มีโอกาสได้ตอบคำถามของท่าน และขอยืนยันว่าน้ำประปาสะอาด ปลอดภัย ดื่มได้

  • Q:

    เรื่องเกณฑ์คุณภาพน้ำประปา

    A:

    การประปานครหลวง ผลิตน้ำประปาตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก ปี 2006 ซึ่งท่านสามารถดูข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ได้ จาก www.mwa.co.th ในหัวข้อ ความรู้เรื่องกิจการประปา/คุณภาพน้ำ/มาตรฐานคุณภาพน้ำประปา

  • Q:

    เรื่องน้ำประปาดื่มได้หรือไม่

    A:

    ขอเรียนชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการน้ำประปาดื่มได้

    เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนดื่มน้ำประปาที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตน้ำประปาตามหลักวิชาการสากล มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพน้ำทุกขั้นตอนการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO 9002 พร้อมทั้งยังมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำและได้รับการรับรองจากหน่วยงานอื่น อาทิเช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าน้ำประปาที่ผลิตได้มีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนดทุกประการ ที่สำคัญคือน้ำประปามีราคาถูกพอสมควรเหมาะแก่เศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

    วิธีการทดสอบอย่างง่ายๆว่าน้ำประปาที่บ้านของท่านดื่มได้ คือ เปิดก๊อกน้ำทิ้งสักครู่ (อาจนำภาชนะมารองรับน้ำแล้วนำไปใช้ในกิจกรรมอื่น เช่นรดน้ำต้นไม้ ล้างภาชนะ ซักผ้า ฯลฯ) นำภาชนะ เช่นแก้วรองรับน้ำเพื่อดูความใสของน้ำ ดมแล้วได้กลิ่นคลอรีน แสดงว่าน้ำประปาสะอาด และปลอดภัยใช้ดื่มได้ มีคลอรีนคงเหลือที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำนอกจากนี้ท่านจะต้องดูแลระบบท่อภายในบ้าน หากเป็นท่อเหล็กเกิน 5 ปีแล้วจะหมดอายุการใช้งาน ควรเปลี่ยนเป็นท่อพีวีซีแทน เพื่อมิให้สนิมเหล็กหลุดปะปนมากับน้ำประปา ไม่ควรใช้เครื่องสูบน้ำโดยตรงจากเส้นท่อ ควรมีถังพักน้ำและหมั่นดูแล ล้างทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

    ดังนั้นหากท่านอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ที่ใช้น้ำประปาจากการประปานครหลวงแล้ว มั่นใจได้ว่า น้ำประปาสะอาด สามารถใช้ดื่มได้อย่างปลอดภัย

  • Q:

    เรื่องน้ำประปามีคลอรีนมาก

    A:

    ปริมาณคลอรีนที่การประปาฯใช้เพื่อฆ่าเชื้อโรคอยู่ระหว่าง 1.0 – 1.8 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ใช้คลอรีนในระบบผลิตน้ำประปาได้ไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร ฉะนั้น คลอรีนที่การประปาฯใช้นั้นอยู่ในเกณฑ์กำหนดและระบบผลิตของการประปาฯได้รับการรับรอง ISO 9002 ซึ่งปริมาณคลอรีนที่ใช้นี้ต่ำกว่าที่ใช้ในสระว่ายน้ำค่อนข้างมาก จึงขอเรียนว่าน้ำประปามิใช่สาเหตุที่ทำให้ผมร่วงและแสบหน้าแต่ประการใดผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำที่บ้านท่านในเบื้องต้น เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2544 เวลา 12.00 น. ตรวจวัดคลอรีนได้ 0.96 มิลลิกรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนผลวิเคราะห์อื่นๆซึ่งต้องวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการจะแจ้งให้ทราบภายหลัง

  • Q:

    เรื่องฟองอากาศในน้ำ

    A:

    ปัญหาดังกล่าวแนะนำให้ท่านตรวจสอบปลายหัวก๊อก ส่วนมากจะเป็นสาเหตุจาก Aerator ที่ติดไว้อาจมีลักษณะต่างๆ กัน เช่น เป็นตาข่าย เป็นซีก เป็นแฉกๆ เป็นต้น ถ้ามีให้ถอดออกฟองอากาศจะหายได้ และให้ดูเรื่องแรงดันน้ำประกอบด้วย ถ้าไม่หายน่าจะมีสาเหตุจาก ปั๊มที่ใช้จ่ายน้ำเข้าเส้นท่อมีอากาศเข้าที่ Packing ของตัวปั๊มน้ำได้ อย่างไรก็ตามฟองอากาศที่เกิดขึ้นไม่อันตรายและไม่ทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง

  • Q:

    เรื่องน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงปลา

    A:

    1. สารคาร์บอนสามารถกำจัดคลอรีนได้ คาร์บอนที่ใช้งานมี 2 ประเภท คือ แบบผง (Powder ActivatedCarbon) และแบบเกล็ด (Granular Activated Carbon) โดยคาร์บอนผงมีราคาถูกกว่าแบบเกร็ดประมาณ 2-3 เท่าแต่ไม่คุ้มค่าและประหยัดในการทำรีเจนเนอเรชัน ซึ่งเป็นการฟื้นฟูสภาพให้กับคาร์บอนผงที่เสื่อมแล้ว จึงเป็นแบบใช้แล้วทิ้งได้เลย ส่วนคาร์บอนแบบเกร็ดที่ใช้และเสื่อมแล้ว สามารถนำไปทำรีเจนเนอเรชันและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่การทำรีเจนเนอเรชันทุกครั้งต้องมีคาร์บอนสูญเสียไปประมาณ 5 % เพราะการทำรีเจนเนอเรชันต้องเผาไหม้ที่อุณหภูมิสูงมาก ทำให้คาร์บอนบางส่วนป่นกลายเป็นผงละเอียดจนใช้การไม่ได้
    2. การกำจัดคลอรีนในน้ำประปาให้หมดไป นอกจากการกักเก็บน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 วันแล้วยังสามารถใช้โซเดียมไธโอซัลเฟต (Na2S2O3) 3 % ประมาณ 2-3 หยดต่อน้ำ 100-120 ml. นอกจากนี้ยังแก้ไขได้โดยบรรจุคาร์บอนแบบเกร็ดไว้ในถังแล้วปล่อยให้น้ำไหลผ่านชั้นคาร์บอน คลอรีนก็ถูกกำจัดออกหมด
    3. การกำจัดความกระด้างของน้ำ หมายถึง การกำจัดแคลเซียมและแมกนีเซียม ออกจากน้ำจนมีความเข้มข้นอยู่ในระดับที่ไม่กระทบกระเทือนต่อการใช้น้ำ โดยปกติแล้วมักยอมให้มีความกระด้างอยู่ในน้ำเพื่อป้องกันการสึกกร่อนวิธีกำจัดความกระด้าง สามารถทำได้ 2 วิธี คือ วิธีเคมีหรือวิธีตกผลึกและวิธีแลกเปลี่ยนไอออน
    • วิธีตกผลึก (Precipitation Method) สารเคมีที่นิยมมากที่สุดในการกำจัดความกระด้างคือ ปูนขาว (CaO)โซดาแอช (Na2CO3) บางครั้งอาจใช้โซดาไฟ (NaOH) แทน แต่ไม่นิยมเท่าปูนขาวและโซดาแอช เนื่องจากมีราคาแพงมาก นอกจากนี้ยังต้องมีส่วนประกอบอื่นๆ อีก ที่สำคัญได้แก่ ถังกวนช้า ถังกวนเร็ว ถังตกตะกอนและระบบพีเอชหรือรีคาร์บอเนชั่น (เป็นการปรับสภาพน้ำให้เสถียรโดยการเติมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือกรดแก่ เช่น กรดกำมะถัน,กรดเกลือ) นอกจากนี้ยังต้องทราบคุณสมบัติทางเคมีของน้ำเช่น pH, Alkalinity,Ca, Mg, TDS เป็นต้น จะเห็นว่าวิธีการนี้ค่อนข้างยุ่งยาก เหมาะสำหรับการปฏิบัติในโรงงานผลิตน้ำมากกว่า
    • วิธีแลกเปลี่ยนไอออน ใช้ในเครื่องกรองน้ำทั่วๆไป คือ สารเรซิน มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนไอออนได้ดี เรซินที่ใช้ในการกำจัดความกระด้างออกจากน้ำคือเรซินแบบกรดแก่ที่รีเจนเนอเรดด้วยเกลือแกง ในระหว่างการแลกเปลี่ยนไอออน เรซินจะใช้โซเดียมแลกกับไอออนบวกต่างๆ ในน้ำเช่นแคลเซียม แมกนีเซียม
  • Q:

    เรื่องการใช้น้ำบาดาล

    A:

    ตามที่คุณ wine_hk@hotmail.com ได้ส่ง mail สอบถามในเรื่องการใช้น้ำบาดาลโดยผ่านการกรองโดยใช้ทรายกรองและแกลบเผา แต่คุณภาพน้ำที่ออกมามีลักษณะมันๆติดๆเหมือนกับมีสารส้ม เวลาอาบไม่สบายตัวขออธิบายว่า น้ำบาดาลที่คุณใช้น่าจะมีปริมาณความกระด้างที่เกิดจากหินปูนและปริมาณเหล็กหรือแมงกานีสที่อยู่ใต้ดิน ทำให้น้ำที่ออกมาจากบ่อบาดาลเวลาสัมผัสกับอากาศจะมีลักษณะดังกล่าว แต่ข้อมูลที่ให้มายังน้อยเกินไปแต่สาเหตุที่อธิบายดังกล่าวข้างต้นอธิบายจากประสบการณ์ว่าน่าจะเป็นลักษณะน้ำที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าว ข้อมูลที่น่าจะมีให้มาเพิ่มเติมคือ บริเวณที่ตั้งอยู่จังหวัดไหน ความลึกบ่อบาดาล ลักษณะน้ำที่สังเกตด้วยตาเปล่าเป็นอย่างไร มีฝ้าลอยอยู่ด้านบนไหมเป็นต้น

    การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

    1. ต้องเก็บน้ำมาตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการว่าคุณภาพน้ำเป็นอย่างไร มีพารามิเตอร์ไหนที่เกินบ้างจะได้แก้ไขได้ถูกต้อง เช่น ความกระด้างเกินก็ใช้เรซินประจุบวกกำจัด หรือเหล็กเกินก็อาจจะเติมอากาศให้เหล็กตกตะกอน วิธีการง่ายๆคือเจาะท่อ PVC แล้วปล่อยให้เกิดการกระแทก ทำให้น้ำสัมผัสกับอากาศเป็นต้น แต่ที่สำคัญที่สุดต้องมานั่งคำนวณก่อนว่าจะใช้เรซินเท่าใดถึงจะเหมาะสม ซึ่งจะสัมพันธ์กับความกระด้างที่วิเคราะห์ได้จากห้องปฏิบัติการ
    2. การวางองค์ประกอบระบบควรจะวางอย่างไร ที่คุณใช้แกลบเผาใส่ลงไปนั้นโดยแท้จริงแล้วแกลบเผาจะทำหน้าที่หลักในการดูดซับกลิ่นที่มากับน้ำ หน้าที่รองกำจัดพวกสารอินทรีย์ในน้ำได้บางส่วนเท่านั้น
  • Q:

    น้ำที่ผ่านกระบวนการรีเวิร์ส ออสโมซิส (R.O.) เหมาะสมที่จะใช้เป็นน้ำดื่มหรือไม่

    A:

    เครื่องกรองน้ำระบบ R.O. หรือ Reverse Osmosis นิยมนำมาใช้ในการบำบัดน้ำกร่อย หรือ น้ำทะเลในประเทศหรือ พื้นที่ที่น้ำจืดเป็นสิ่งหาได้ยาก เนื่องจากกระบวนการผลิตน้ำประปาที่ใช้อยู่ทั่วโลก ไม่มีขีดความสามารถในการกำจัดเกลือคลอไรด์ (Sodium Chloride) ออกจากน้ำ และเหมาะที่จะเป็นทางออกสำหรับ การผลิตน้ำที่มีความสกปรกสูง หรือ มีแร่ธาตุบางชนิดมากเกินไป นอกจากนี้ ระบบ R.O. ยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมการผลิตยา อุตสาหกรรมการผลิตสารกึ่งตัวนำ (semi-conductor) อุตสาหกรรมการผลิตน้ำผลไม้เข้มข้น ฯลฯน้ำประปาเมื่อผ่านเครื่องกรองน้ำระบบ R.O. จะถูกดึงแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับร่างกายออกไป และเนื่องจากเป็นน้ำบริสุทธิ์ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจึงไปดึงแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายออกมา ซึ่งในระยะยาวเป็นผลเสียต่อสุขภาพ

  • Q:

    มีผู้นำเครื่อง TDS มาวัดน้ำประปา น้ำขวดต่าง ๆ และน้ำบริสุทธิ์ พบน้ำประปามีความสกปรก มีสีขุ่นแดง ส่วนน้ำบริสุทธิ์ใสสะอาด แสดงว่าน้ำประปาไม่สามารถดื่มได้

    A:

    การที่มีบริษัทนำเครื่องมือที่เรียกว่า TDS Meter มาจุ่มลงในน้ำประปาและน้ำบริสุทธิ์ เพื่อจะขายอุปกรณ์กรองน้ำ มีวัตถุประสงค์หลอกลวงทำให้เกิดการเข้าใจผิด โดยใช้เครื่องมือที่ไม่ผ่านมาตรฐานการวิเคราะห์สากล และไม่นำมาใช้ทดสอบวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการสากล โดยมีข้อเท็จจริงทางด้านวิทยาศาสตร์ดังนี้

    1. เครื่องวัด TDS Meter ที่บริษัทอ้างถึงมีแท่งเหล็กและ แท่งอลูมิเนียมแช่อยู่ในน้ำ แล้วใช้กระแสไฟตรงให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่เรียกว่า Electrolysis ทำให้เกิดการละลายของแท่งเหล็ก เป็นตะกอนแดงในน้ำที่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ เช่น น้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไป ซึ่งมีแร่ธาตุตามธรรมชาติประกอบอยู่
    2. สำหรับน้ำบริสุทธิ์ เป็นน้ำที่เอาแร่ธาตุออกเกือบหมด ซึ่งจะไม่ยอมให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้ จึงไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ในการละลายของแท่งเหล็กจึงไม่มีตะกอนเหล็กปรากฏให้เห็น น้ำจึงใสตามปกติ
  • Q:

    พบหนอนแดงหลุดออกมาจากฝักบัวอาบน้ำและพบในถังน้ำอาบน้ำ

    A:

    หนอนแดงเกิดจากแมลงบางชนิดวางไข่ในน้ำนิ่ง ๆ เช่นเดียวกับยุงจะเห็นลูกน้ำอาศัยอยู่ในโอ่ง ถังพักน้ำ ปิดไม่สนิท การเจริญเติบโตของหนอนแดงอาศัยสิ่งสกปรกที่อยู่ในก้นโอ่ง ถังพักน้ำต่าง ๆ ที่ไม่ได้ทำความสะอาดเป็นเวลานาน แพร่พันธุ์เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการใช้น้ำในระดับก้นถัง จะไหลมาตามท่อส่งน้ำเข้าสู่ระบบท่อต่าง ๆ ภายในบ้านได้ หรืออาจจะเข้าทางเครื่องสูบน้ำโดยตรงจากท่อได้ ในกรณีที่ท่อทางดูดแตกชำรุด และฝังอยู่ในที่ชื้นแชะหรือมีน้ำท่วม ก็จะดูดหนอนแดงและสิ่งสกปรกที่อยู่ตามพื้นดินเข้าสู่ระบบท่อภายในบ้านได้ ระบบน้ำประปาหนอนแดงไม่สามารถอยู่ได้ เพราะมีระบบการตกตะกอน การกรอง การฆ่าเชื้อโรค และไม่สามารถเข้ามาในท่อแตกรั่วได้ เพราะมีแรงดันน้ำและมีคลอรีนตลอดเวลาผู้ใช้น้ำควรตรวจสอบถังพักน้ำทุกชนิด โดยทำความสะอาดเปลี่ยนถ่ายน้ำภายในถังเป็นประจำและตรวจสอบระบบท่อแตกรั่ว เพื่อกันสิ่งปนเปื้อนเข้าระบบท่อภายในบ้าน