จริยธรรมการดำเนินงานของ กปน. 

จริยธรรม หมายถึง การปฏิบัติสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ ปฏิบัติแล้วเป็นประโยชน์ต่อสังคม จรรโลงให้สังคมอยู่ได้อย่างมีความสุข จริยธรรมการดำเนินงานของการประปานครหลวง    

หมายถึง การกำหนดแนวทางการประพฤติปฏิบัติตนที่ดี ถูกต้องตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงานหรือในการดำเนินธุรกิจของการประปานครหลวง รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมภาพลักษณ์ของการประปานครหลวงได้รับการยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ ผู้ว่าการ ผู้บริหารทุกระดับ และพนักงานของการประปานครหลวง ยึดถือปฏิบัติภายใต้กรอบคุณธรรมและจริยธรรม โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้      

  • มาตรฐานจริยธรรมของคณะกรรมการ การประปานครหลวง
  • มาตรฐานจริยธรรมของผู้ว่าการและพนักงาน การประปานครหลวง(ระเบียบการประปานครหลวง ฉบับที่ 27/2559)
  • มาตรฐานจริยธรรมของผู้ว่าการและพนักงาน การประปานครหลวง(ระเบียบการประปานครหลวง ฉบับที่ 27/2559)  

ประมวลจริยธรรมการดำเนินงานของการประปานครหลวง


ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 279 บัญญัติให้มีประมวลจริยธรรมเพื่อกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่ละประเภท

โดยให้มีกลไกและระบบในการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการลงโทษตามความร้ายแรงแห่งการกระทำ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว คณะกรรมการการประปานครหลวง จึงกำหนดให้มีประมวลจริยธรรมการดำเนินงานการประปานครหลวง ตามข้อบังคับ การประปานครหลวง ฉบับที่ 133 ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมของผู้ว่าการและพนักงานการประปานครหลวง พ.ศ. 2552 ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2552 และได้กำหนดให้มีการเผยแพร่ให้ทราบทั่วกัน โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญตามข้อบังคับมี 2 หมวด ดังนี้  ข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ 133 ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมของผู้ว่าการและพนักงานการประปานครหลวง พ.ศ. 2552

หมวด 1 บททั่วไป


กล่าวถึงข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ 133ว่าด้วย ประมวลจริยธรรมของผู้ว่าการ และพนักงานการประปานครหลวง พ.ศ. 2552 ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2552 โดยให้ผู้ว่าการการประปานครหลวง มีอำนาจวางระเบียบ คำสั่ง หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้

หมวด 2 มาตรฐานจริยธรรม


ประกอบด้วยเนื้อหา 4 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1 มาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก 9 ประการ ได้แก่

1. การยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรม

2. การมีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต และรับผิดชอบ

3. การยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

4. การยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม และถูกกฎหมาย

5. การให้บริการแก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว มีอัธยาศัย และไม่เลือกปฏิบัติ

6. การให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนอย่างครบครัน ถูกต้อง และไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง

7. การมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน รักษามาตรฐาน มีคุณภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้

8. การยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

9. การยึดมั่นในหลักจรรยาวิชาชีพขององค์กร

ส่วนที่ 2 มาตรฐานจริยธรรมองค์กร ผู้ว่าการ และพนักงานการประปานครหลวงจะต้องยึดถือและปฏิบัติตนตามมาตรฐานจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลักทั้ง 9 ประการ ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติของการประปานครหลวง ปฏิบัติตนตามหลักจรรยาวิชาชีพของตนอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเสียสละ ทุ่มเทสติปัญญา ความรู้ความสามารถ ให้บรรลุผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน และการประปานครหลวง

ส่วนที่ 3   กลไกและระบบการบังคับใช้ประมวลจริยธรรม กำหนดให้ผู้ว่าการและพนักงานการประปานครหลวง ต้องประพฤติปฏิบัติและวางตนอยู่ในกรอบประมวลจริยธรรมนี้อย่างเคร่งครัด โดยให้ผู้ว่าการการประปานครหลวงกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติของพนักงานให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมนี้ การร้องเรียนหากมีการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม แบ่งออกได้เป็น 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1

พนักงานถูกร้องเรียนว่าประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้ผู้ว่าการหรือผู้ที่ผู้ว่าการมอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ

กรณีที่ 2

ผู้ว่าการการประปานครหลวงถูกร้องเรียนว่าประพฤติปฏิบัติฝ่าฝืนประมวลจริยธรรม ให้ประธานกรรมการการประปานครหลวง เป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ การดำเนินการทางจริยธรรมให้นำแนวทางและวิธีการสอบสวนตามระเบียบการประปานครหลวง ฉบับที่ ๒๕ ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนทางวินัย พ.ศ. ๒๕๔๔ และข้อบังคับการประปานครหลวง ฉบับที่ ๑๑๕ ว่าด้วย การบริหารงานบุคคล พ.ศ. ๒๕๔๓       

ส่วนที่ 4   ขั้นตอนการลงโทษ การประพฤติปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม จะพิจารณาจากพฤติกรรมของการฝ่าฝืน ความจงใจและเจตนา มูลเหตุจูงใจ ความสำคัญและระดับตำแหน่ง ตลอดจนหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ฝ่าฝืน อายุ ประวัติ และความประพฤติในอดีต สภาพแวดล้อมแห่งกรณี ผลร้ายอันเกิดจากการฝ่าฝืนและเหตุอื่นอันควรนำมาประกอบการพิจารณา หากผลการดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมตามประมวลจริยธรรม ผู้ที่ถูกสอบสวนจะมีความผิดทางอาญาซึ่งจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย และมีความผิดทางวินัยซึ่งจะถูกดำเนินการตามหลักเกณฑ์ทางวินัยของการประปานครหลวง